หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
หน้าที่ชาวพุทธ
พิธีกรรม
พิธีกรรม มาจาก คำว่า วิธี รวมกับ กรรม หมายถึงการปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งพิธีกรรมจะมีองค์ประกอบดังนี้
1. มีระเบียบแบบแผนหรือขั้นตอนการปฏิบัติ
2. มีการจัดตกแต่งสถานที่บริเวณที่ประกอบพิธีกรรม
3. มีการแสดงความเคารพหรือการปลูกฝังให้มีมรรยาท
4. มีการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย
พุทธศาสนพิธี หมายถึง การประกอบพิธีกรรมที่มีการนำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. เพื่อความเป็นสิริมงคล
2. ช่วยให้มีความสุขสดชื่น
3. ก่อให้เกิดความสามัคคี
4. ก่อให้เกิดความรู้มีความเฉลียวฉลาด
5. ช่วยให้มีสติ
6. ช่วยให้เกิดความประณีตมีความละเอียดถี่ถ้วน
7. เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี
การประกอบพิธีกรรมในงานใดก็ตามทั้งงานที่เป็นมงคลหรืองานอัปมงคลผู้มีส่วนร่วมในพิธีย่อมมีจุดประสงค์
ตามความศรัทธาหรือความเชื่อที่ตนมีอยู่ ว่าเมื่อทำแล้วย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องของความเป็นสิริมงคล พิธีกรรมทางศาสนาพุทธหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ศาสนพิธี จำแนกได้เป็น 2 ประเภท
1. พิธีกรรมที่เป็นพุทธบัญญัติ
2. พิธีกรรมที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น
พิธีกรรมที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพิธีการเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ จะต้องปฏิบัติพิธีกรรมนั้นๆ ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้
พิธีกรรมที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น คือ พิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นต่าง ๆ กำหนดขึ้น โดยมีการผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นให้เข้ากับกิจกรรมทางพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี
ศาสนพิธีในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น เนื่องจากมีหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงวางไว้แต่ในปีที่ตรัสรู้ เพื่อสาวกจะได้ถือเป็นหลักในการออกไปประกาศพระศาสนา อันเรียกว่า
"โอวาทปาติโมกข์" ในโอวาทนั้น มีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้ 3 ประการ คือ สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง สอนให้อบรมกุศลให้พร้อม สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว

โดยหลักการทั้ง 3 นี้ พุทธบริษัทต้องพยายามเลิกละความประพฤติชั่วทุกอย่างจนเต็มความสามารถ และพยายามสร้างกุศลสำหรับตนให้พร้อมเท่าที่จะสร้างได้ กับพยายามชำระจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการพยายามทำตามคำสอนในหลักการ เป็นการพยายามทำความดี หรือชาวพุทธเรียกว่า
"ทำบุญ" การทำบุญนี้คนไทยมักใช้ควบคู่กับคำว่า “ทำทาน” จนมีการเรียกจนติดปากว่า ให้รู้จัก “ทำบุญทำทาน” กันบ้าง ซึ่งอาจหมายถึง การให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน
พระพุทธเจ้าทรงแสดง การทำความดีหรือทำบุญ ไว้ ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่
1. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน การให้ของที่ควรแก่คนที่ควรจะได้รับ เช่น การให้สิ่งของ เงิน ทอง อาหาร ที่อยู่อาศัย ให้วิชาความรู้ ให้ธรรมะ ให้อภัย
2. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การตั้งอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัด อย่างน้อยควรรักษาเบญจศีล
3. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา การแผ่เมตตา การเดินจงกรม การกําหนดลมหายใจ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
4. อปวายนมัย บุญสำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนแก่ผู้มีวัยวุฒิ และผู้มีคุณวุฒิ คือ ไม่ทำตัวเป็น คนพาล การทำตัวหยิ่งยโส ให้เป็นคนสุภาพอ่อนโยน
5. เวยยาวัจวมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือการงาน ขวนขวายในกิจกรรมที่ชอบ เช่น รับใช้บิดา มารดา ผู้มีพระคุณ ครูอาจารย์รวมตลอดถึงคนที่เราไม่รู้จักแต่ต้องการความช่วยเหลือจากเราในบางโอกาส โดยที่กิจการต่างๆที่เราช่วยนี้ด้วยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยประเพณี และชอบด้วยธรรม
6. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เฉลี่ยส่วนความดีให้กับผู้อื่น แผ่ส่วนบุญให้เพื่อนมนุษย์ มารเทพ เทวดา พรหม
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ยินดีในความดีของผู้อื่น
8. ธรรมสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือ การได้ฟังธรรมเสมอ ๆ ได้รับฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์ ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ดีงาม เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
9. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม คือ การถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
10. ทิฏฐุชุกัมมะ บุญสำเร็จด้วยการอบรมความเห็นของตนให้ถูกกับหลักธรรมในพุทธศาสนา ด้วยการ ศึกษาเล่าเรียนทำความเห็นให้ตรง คือ การใช้ปัญญาไตร่ตรองอยู่เสมอว่าอะไรผิด อะไรถูก
             บุญกิริยาวัตถุนี้ เป็นแนวให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวข้างต้นและทำให้เกิดศาสนพิธีต่างๆ ขึ้นโดยนิยม ทำบุญ โดยเริ่มต้นมีการรับศีล ต่อไปภาวนาด้วยการสวดมนต์เองหรือฟังพระสวดแล้วส่งใจไปตาม จบลงด้วยการบริจาคทานตามสมควร เพราะนิยมทำบุญเป็นการบำเพ็ญความดีดังกล่าวนี้ จึงเกิดพิธีกรรมขึ้น เมื่อพิธีกรรมใด เป็นที่นิยมและรับรองปฏิบัติสืบ ๆ มาจนเป็นประเพณี พิธีกรรมนั้นก็กลายเป็นศาสนพิธี
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th